Sunday, 21 January 2024

“โรคฝีดาษวานร” ไม่ตระหนกแต่ต้องตระหนัก และรู้จักป้องกันอย่างเข้าใจ

15 Jan 2023
1254

การระบาดของโรคฝีดาษวานรนอกทวีปแอฟริกาในปี 2565 เริ่มมีรายงานที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 และปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2565

โรคฝีดาษวานร

สถานการณ์โรคฝีดาษวานร
พบการระบาดทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อที่รับการยืนยันกว่า 20,000 ราย ใน 79 ประเทศ (ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2565) ส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปยุโรป และมีรายงานผู้เสียชีวิตจากประเทศบราซิลและสเปน

สถานการณ์ “โรคฝีดาษวานร” ในประเทศไทย
มีรายงานผู้ติดเชื้อเดินทางโดยเครื่องบินมาต่อเครื่องที่สนามบินในไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ก่อนเดินทางต่อไปที่ประเทศออสเตรเลีย ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2565 พบผู้ติดเชื้อชาวไนจีเรียที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งต่อมาได้เดินทางออกนอกประเทศไทย ล่าสุดวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 มีรายงานผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรชาวไทยเป็นครั้งแรก เป็นชายรักร่วมเพศ จากการสอบสวนโรคยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม

“โรคฝีดาษวานร” ติดต่อจากอะไรได้บ้าง
การติดต่อทางหลัก คือการสัมผัสตุ่มน้ำหรือตุ่มหนองของผู้ติดเชื้อ ผู้มีความเสี่ยงคือผู้มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาด และผู้ที่สัมผัสใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ โรคนี้สามารถติดต่อทางสารคัดหลั่ง ระบบทางเดินหายใจคล้ายโรคโควิด-19 แต่การติดเชื้อลักษณะนี้โอกาสน้อยกว่าโรคโควิด-19 มาก

อาการของ “โรคฝีดาษวานร”
มีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อย พบต่อมน้ำเหลืองโต และพบตุ่มแดง ซึ่งต่อมากลายเป็นตุ่มน้ำและตุ่มหนองตามลำดับ ตุ่มดังกล่าวอาจพบบริเวณใบหน้าหรือบริเวณอื่นของร่างกาย พบว่าร้อยละ 30 ของผู้ติดเชื้อมีตุ่มในร่มผ้า ที่อวัยวะสืบพันธุ์ ร่วมกับต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโต ซึ่งเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ตุ่มของโรคพบจำนวนไม่มากเหมือนโรคสุกใส

การรักษา
ผู้ที่ร่างกายแข็งแรงโรคนี้สามารถหายได้เอง ในรายที่มีอาการรุนแรงมักพบในผู้มีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย มียาต้านไวรัสที่สามารถรักษาโรคนี้ได้ แต่จะมีการใช้ในรายที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น
วัคซีนป้องกันการติดเชื้อฝีดาษมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคนี้ได้ประมาณร้อยละ 85 ปัจจุบันได้มีการผลิตวัคซีนนี้ ซึ่งเลิกใช้มากว่า 40 ปี เริ่มมีการฉีดวัคซีนในบางประเทศ ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีคำแนะนำการใช้วัคซีนนี้

สรุป
การติดตามสถานการณ์ของโรคเพื่อระวังป้องกันเป็นวิธีที่ดีที่สุด ไม่ควรตื่นตระหนกเพราะโรคนี้มีความรุนแรงต่ำ และการแพร่กระจายยากกว่าโรคโควิด-19 มาก ลักษณะของตุ่มโรคคล้ายกับโรคสุกใสและเริม การตรวจยืนยันและการแยกกักตัวป้องกันการแพร่กระจายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ หากสงสัยว่าติดเชื้อให้แยกตัวจากผู้อื่นและพบแพทย์เพื่อการตรวจยืนยันทันที

 

เครดิตแหล่งข้อมูล : phyathai.com